โตโยต้า ถนนสีขาว นำนักศึกษาที่ชนะการประกวด “Campus Challenge 2019” ศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยทางถนนณ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 2 – 7 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตระหนักถึงปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นที่ถือเป็นวัยเริ่มต้นของการใช้รถใช้ถนน และเป็นกำลังสำคัญของสังคมต่อไปในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้เยาวชนเกิดการตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงริเริ่มกิจกรรม “Campus Challenge โดยโตโยต้า ถนนสีขาว” ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 6 โดยให้นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแผนประชาสัมพันธ์และรณรงค์สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนในรั้วมหาวิทยาลัยจนถึงการลงมือปฏิบัติเพื่อลดอุบัติเหตุจริง โดยคาดหวังให้ความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้เป็นพลังขับเคลื่อนในการสร้างวินัยและน้ำใจ เพื่อสร้างสังคมคนขับรถดี อันจะนำไปสู่ถนนสีขาวหรือถนนปลอดอุบัติเหตุได้อย่างแท้จริงในอนาคต
- เพื่อให้นิสิตนักศึกษาตระหนักถึงปัญหาเรื่องความปลอดภัยโดยใช้ความรู้ความสามารถด้านการวางแผนงานเพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์การลดอุบัติเหตุทางถนนเผยแพร่สู่สาธารณชน และสามารถนำแผนงานไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
- เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้มีเวทีในการแสดงออกถึงความรู้ความสามารถ และศักยภาพของตนเองอย่างสร้างสรรค์
- เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ลดอุบัติเหตุในรั้วมหาวิทยาลัย โดยใช้ประสบการณ์จริงและเป็นโครงการต้นแบบในการลดอุบัติเหตุของมหาวิทยาลัย
รอบชิงชนะเลิศ
- 15 ทีมสุดท้ายจะต้องนำเสนอผลลัพธ์จากการรณรงค์รวมทั้งวิธีการประเมินผลของตนต่อหน้าคณะกรรมการ โดยแต่ละทีมมีเวลานำเสนอไม่เกิน 15 นาที เพื่อให้คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือก ทีมที่ได้รับรางวัล
- นำเสนอผลงานและประกาศผลผู้ชนะ วันที่ 19 ธันวาคม 2562
เกณฑ์ในการตัดสิน
- แผนสามารถปฏิบัติได้จริง และมีความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมคนขับรถดีในสถานศึกษา
(Implementation Plan & Sustainable Plan) 35% - การประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อการสร้างเครือข่ายสังคมคนขับรถดีในสถานศึกษา
(PR & Communication Plan) 30% - โครงการมีความแปลกใหม่และมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) 15%
- การประเมินโครงการ (Evaluation) 10%
- เทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจ (Presentation) 10%
การดำเนินกิจกรรมต่อยอด 4 เดือน (สำหรับทีมผู้ชนะ 3 อันดับแรก)
- ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 อันดับแรก จะต้องนำแผนงานที่ได้รับการคัดเลือกไปรณรงค์ต่อเป็นระยะเวลา 4 เดือน ในมหาวิทยาลัยของตนเอง
- กิจกรรมจะต้องมีการประเมินผลที่ชัดเจนและวัดผลได้จริง
กิจกรรม Campus Challenge 2019 ได้ประกาศผลการตัดสินไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 โดยรายละเอียด มีดังนี้
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม “สาธุบุญโยเร” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายธนภัทร พรหมภัทร์
- นางสาวปวริศา ปัทมะสุวรรณ์
- นาวสาวอาทิตยา พิมพาคำ
- นางสาวอารียา หน่อสุวรรณ
ชื่อแผนรณรงค์ The Lucky C Way ทางม้าลายสายมงคล
รางวัลที่ได้รับ
- ศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 5 วัน มูลค่า 500,000 บาท
- ทุนการศึกษา 100,000 บาท ทุนสนับสนุนในการพัฒนาแผนงานแก่คณาจารย์ที่ปรึกษา 30,000 บาท
- เงินสนับสนุน 100,000 บาท มอบให้มหาวิทยาลัยเพื่อการดำเนินกิจกรรมต่อยอด 4 เดือน
- โอกาสฝึกงานที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด หรือพันธมิตร
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม “Chinathip” มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- นายพิสิษฐ์ แก้วศิลา
- นายชัยภัคดิ์ ตั้งประจักษ์
- นางสาวนันทิชา สวัสดีพละ
- นายภัทรวิทชญ์ ภัทรวัฒน์กุล
ชื่อแผนรณรงค์ Bluedyguard ใครไม่เห็น แต่บลูดี้เห็นเด้อ
รางวัลที่ได้รับ
- ศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 5 วัน มูลค่า 500,000 บาท
- ทุนการศึกษา 80,000 บาท ทุนสนับสนุนในการพัฒนาแผนงานแก่คณาจารย์ที่ปรึกษา 20,000 บาท
- เงินสนับสนุน 100,000 บาท มอบให้มหาวิทยาลัยเพื่อการดำเนินกิจกรรมต่อยอด 4 เดือน
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม “4 ANGIES ขี่ม้ายูนิคอร์น” มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- นายเสกสรร นาหัวนิล
- นางสาวณัชชา ผิวผ่อง
- นายธีระนัย จันทร์ไพสนต์
- นางสาวปรียานุช สุโพธิ์
ชื่อแผนรณรงค์ UniCross Safe Life
รางวัลที่ได้รับ
- ศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 5 วัน มูลค่า 500,000 บาท
- ทุนการศึกษา 50,000 บาท ทุนสนับสนุนในการพัฒนาแผนงานแก่คณาจารย์ที่ปรึกษา 10,000 บาท
- เงินสนับสนุน 100,000 บาท มอบให้มหาวิทยาลัยเพื่อการดำเนินกิจกรรมต่อยอด 4 เดือน
สำหรับกิจกรรมศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยทางถนน ณ ประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนี้ นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสเยี่ยมชมนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ พร้อมทั้งเปิดประสบการณ์ด้านการขับขี่และการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้
พิพิธภัณฑ์โตโยต้า Toyota Commemorative Museum of Industry and Technology
พิพิธภัณฑ์ได้รับการออกแบบเพื่อจัดแสดงผลงานอันน่าตื่นตาตื่นใจกว่า 4,000 ชิ้น ทั้งในรูปแบบของอุปกรณ์การทำงานแบบดั้งเดิม สื่อการนำเสนอในรูปแบบวิดีทัศน์ และอื่นๆ นิทรรศการทั้งหมดนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ภายใต้แนวคิดแห่งการรังสรรค์ ผ่านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและสิ่งทออันถือเป็นจุดกำเนิดของกลุ่มบริษัทโตโยต้า รวมทั้งจัดแสดงวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
- หอแสดงเครื่องจักรกลสิ่งทอ (Textile Machinery Pavilion)
พื้นที่จัดแสดงผลงานกว่า 3,468 ตารางเมตร ในโรงงานปั่นฝ้ายที่สร้างขึ้นในยุคไทโช (1912 – 1926) และยังคงเอกลักษณ์เช่นเดิมไว้จวบจนปัจจุบัน ผลงานที่จัดแสดงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนเครื่องจักรกลต้นแบบ การออกแบบลวดลาย และกว่า 90 เครื่องปั่นและเครื่องทอผ้าอันหลากหลาย เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจถึงพัฒนาการทางเทคนิคที่เกิดขึ้น
- หอยานยนต์ (Automobile Pavilion)
พลาดไม่ได้กับหอแสดงผลงานเนื้อที่กว่า 7,900 ตารางเมตร ตื่นตากับโรงงานยานยนต์ขนาดมหึมา พบนิทรรศการเจาะลึกกลไกยานยนต์และอุปกรณ์อะไหล่ เทคโนโลยียานยนต์และการผลิต เยี่ยมชมระบบการทำงานเครื่องจักรกลจริง และแบบจำลองอุปกรณ์ผ่าครึ่ง (พร้อมปุ่มแสดงการทำงานเฉพาะจุด) เครื่องมือทดลองและอุปกรณ์การผลิต สนุกสนานกับวิดีทัศน์สาธิตด้านยานยนต์ที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายด้วยภาพจริงและเสียงประกอบ
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและยานยนต์ (Toyota Kaikan Museum)
นับตั้งแต่วันก่อตั้ง โตโยต้าได้ยึดมั่นกับปณิธานที่จะ “ร่วมรังสรรค์สังคมอันรุ่งเรืองด้วยการผลิตยานยนต์ (Contribution toward a prosperous society by making automobile)” เพื่อสร้างสรรค์พรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม โดยศตวรรษที่ 21 นี้ โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีไฮบริดและเทคโนโลยีความปลอดภัย ร่วมแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนและอุบัติภัยบนท้องถนน ควบคู่ไปกับการนำเสนอความสะดวกสบายจากยานยนต์ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างความฝันและแรงบันดาลใจแห่งยานยนต์ให้เข้าถึงหมู่มวลมนุษยชาติในทุกมุมโลก ภายใต้แนวคิด “วันนี้เพื่ออนาคต (Today for Tomorrow)” โตโยต้าได้กำหนดแนวทางดำเนินกิจกรรมการผลิตจากแรงบันดาลใจ
หอนิทรรศการโตโยต้าไคคัง ได้นำเสนอในรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการยานยนต์ และสื่อภาพและเสียง เพื่อถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของโตโยต้าที่จะสร้างความรุ่งเรืองให้กับสังคมด้วยการผลิตยานยนต์ รวมทั้งเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ที่เหนือชั้น ผู้เข้าชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะได้รับความเพลิดเพลินจากการเยี่ยมชม หอนิทรรศการที่มีการจัดนิทรรศการที่หลากหลายในแต่ละช่วงเวลา โดยสามารถแบ่งเป็น 7 โซน คือ
- Eco and Emotion จัดแสดงยนตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีไฮบริดเป็นหลัก
- Safety and Freedom จัดแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีความปลอดภัยในรถยนต์โตโยต้า
- Production and Creation นำเสนอกระบวนการผลิตรถยนต์ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมืออันทันสมัย
- Company and Society เป็นโซนที่นำเสนอเทคโนโลยีและการดำเนินงาน ที่จะช่วยสร้างอนาคตที่ดีขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ ของโตโยต้า
- Exhibition for Children มุมจัดแสดงกลไกการทำงานของรถยนต์ การออกแบบรถยนต์ กระบวนการผลิตและความปลอดภัยทางจราจรของโตโยต้าให้แก่เยาวชน
- Toyota Vehicles พื้นที่จัดแสดงรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดของโตโยต้า
- Lexus Vehicles พื้นที่จัดแสดงรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดของเลกซัส
- Toyota Gazoo Racing พื้นที่จัดแสดงกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ตและโปรแกรมการแข่งขันของทีม Toyota Gazoo Racing
ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นสวนสนุกในรูปแบบใหม่ที่เน้นเรื่องของรถยนต์ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ส่วนจัดแสดงเมืองโตโยต้า (Toyota City Showcase) สตูดิโอการขับขี่ (Ride Studio) และพื้นที่ส่วนจัดแสดงรถยนต์ในประวัติศาสตร์ (History Garage)
- พื้นที่ส่วนจัดแสดงเมืองโตโยต้า (Toyota City Showcase) เป็นพื้นที่จัดแสดงรถยนต์รุ่นล่าสุดเป็นครั้งแรกก่อนเปิดตัวในที่อื่นๆ พร้อมทั้งยังจัดแสดงเทคโนโลยีมอเตอร์สปอร์ตที่ล้ำสมัยสำหรับโลกอนาคต โดยแบ่งเป็น
- โซนจัดแสดงรถยนต์ (Line-Up Zone) บรรดารถยนต์รุ่นใหม่ของโตโยต้าจะถูกนำมาจัดแสดงที่บริเวณนี้
- โซน GR (GR Zone) เป็นพื้นที่ลักษณะลำลองที่เปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสความสนุกสนานเร้าใจของรถมอเตอร์สปอร์ต ไม่ว่าจะเป็นการจับจอง การได้ทดลองขับจริง และการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง
- โซน TOYOTA x SPORTS พื้นที่ที่คุณสามารถสัมผัสประสบการณ์ของกีฬาพาราลิมปิกและกิจกรรมกีฬาต่างๆ ที่โตโยต้าให้การสนับสนุนลองเล่นกีฬา บ็อคเซีย (Boccia) บาสเก็ตบอลรถเข็น (Wheelchair Basketball) หรือ ฮอกกี้บนพื้นธรรมดา (Floor Hockey)
- โซนเทคโนโลยี พื้นที่ที่คุณสามารถเปิดประสบการณ์ตื่นตาตื่นใจและสนุกสนานไปกับเทคโนโลยีล้ำสมัยของโตโยต้า
- สตูดิโอการขับขี่ (Ride Studio) พื้นที่ส่วนนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เยี่ยมชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถเปิดประสบการณ์สัมผัสความสนุกในการขับขี่ และเรียนรู้เกี่ยวกับกฎจราจร
- พื้นที่ส่วนจัดแสดงรถยนต์ในประวัติศาสตร์ (History Garage) บรรดารถวินเทจรุ่นต่างๆ ตั้งแต่ปีทศวรรษ 1950 – 1970 จากทั่วทุกมุมโลก ถูกนำมาจัดแสดงในบริเวณนี้ท่ามกลางกลิ่นอายและบรรยากาศแบบย้อนยุค พบกับภาพในตำนานของมรดกแห่งวงการมอเตอร์สปอร์ตของโตโยต้า ที่จะปลุกตำนานอันรุ่งโรจน์ให้กลับมาคืนชีพอีกครั้ง
ศูนย์ศึกษาความปลอดภัย โตโยต้า โมบิลิต้าส์ (Mobilitas)
จุดเริ่มต้นของการขับขี่ปลอดภัยคือการเข้าใจข้อจำกัดของตนเองและของรถยนต์ สามารถตอบสนองได้อย่างว่องไวต่อสถานการณ์ในการขับขี่ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนมีความตระหนักถึงเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆ บนท้องถนน ด้วยแนวคิดนี้ทำให้มีการก่อตั้ง “โมบิลิต้า” ขึ้น โดยโตโยต้ามุ่งหวังที่จะให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมโครงการขับขี่ปลอดภัยได้มากขึ้น จึงได้สร้างสถานที่แห่งนี้บนพื้นที่ราว 100,000 ตารางเมตร (เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลประมาณ 15 สนาม) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีประสบการณ์เรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานด้านความปลอดภัยของรถยนต์ ผ่านหลักสูตร Toyota Driver Communication ซึ่งประกอบด้วย
- หลักสูตรสำหรับบุคคลทั่วไป
- หลักสูตรพื้นฐาน (1 วัน)
เรียนรู้ข้อจำกัดของการทำงานของรถยนต์โดยพื้นฐาน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยอย่างถูกต้องเหมาะสม หลักสูตรนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการขับขี่ปลอดภัยได้อย่างครอบคลุม ตลอดจนตรงกับความต้องการของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้เริ่มต้นขับรถหรือผู้ขับขี่ที่มีประสบการณ์แล้ว
- หลักสูตรขั้นสูง (1 วัน)
ครอบคลุมเกี่ยวกับวิธีการขับขี่ขั้นพื้นฐานบนถนนหนทางที่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง การบังคับรถเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะฉุกเฉิน และการขับขี่บนพื้นถนนที่มีความลื่น หลักสูตรนี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อพัฒนาทักษะการขับขี่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรพื้นฐานมาก่อนหน้านี้แล้ว
- หลักสูตรสำหรับผู้เชี่ยวชาญ (ครึ่งวัน)
หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรขั้นสูงแล้ว โดยเป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้อบรมกับผู้ฝึกสอนอย่างใกล้ชิดแบบตัวต่อตัว เพื่อฝึกปรือเทคนิคการขับขี่อย่างปลอดภัยและนุ่มนวลให้เชี่ยวชาญ
- หลักสูตรครึ่งวัน หลักสูตรนี้มีเนื้อหาในลักษณะเดียวกับหลักสูตรพื้นฐาน แต่ได้รับการย่นระยะเวลาการอบรมทักษะการขับขี่ปลอดภัยให้กระชับมากขึ้นโดยเหลือเพียงครึ่งวัน
- หลักสูตรสำหรับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ
หลักสูตรเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลที่จำเป็นต้องขับขี่รถยนต์ในการทำงานหรือเดินทางสัญจร รวมถึงผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนการขับขี่ปลอดภัยให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ตลอดจนผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการการขับขี่ปลอดภัยภายในหน่วยงานหรือองค์กร
- หลักสูตร 1 วัน สำหรับหน่วยงานและองค์กร
- หลักสูตร 2 วัน สำหรับหน่วยงานและองค์กร
- หลักสูตร 1 วัน สำหรับผู้ฝึกสอน
- หลักสูตร 2 วัน สำหรับหัวหน้างานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการขับขี่ปลอดภัย
หมายเหตุ : สามารถจัดหลักสูตรตามความต้องการที่แตกต่างออกไปของกลุ่มของคุณ
- หลักสูตร Toyota Racing Driver Meeting
- หลักสูตร Toyota Racing Driver Meeting ขั้นพื้นฐาน (1 วัน)
หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรการฝึกทักษะการขับขี่ปลอดภัยในภาคปฏิบัติ โดยมีผู้ขับรถแข่งจากทีมรถแข่งของโตโยต้า (ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้ที่มีฝีมือยอดเยี่ยมที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ในการแข่งขันซูเปอร์จีที) นั่งประกบข้างๆ คุณเพื่อให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัว และแบ่งปันความรู้ต่างๆ ที่พวกเขาได้รับจากประสบการณ์การแข่งขันในลักษณะที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในการขับขี่ปลอดภัย
- หลักสูตร Toyota Racing Driver Meeting ขั้นสูง (1 วัน)
หลักสูตรนี้พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร Toyota Racing Driver Meeting ขั้นพื้นฐานมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะมีสื่อการสอนต่างๆ เพื่อตรวจวัดการเคลื่อนไหวของรถยนต์ (เช่น การถ่ายน้ำหนัก) ระหว่างการขับขี่ (เช่น การเบรก) เพื่อให้ผู้อบรมมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เกี่ยวกับลักษณะต่างๆ ของรถยนต์ ตลอดจนการขับขี่ปลอดภัย
โดยเนื้อหาที่ครอบคลุมอยู่ในหลักสูตรต่างๆ ของ Toyota Driver Communication ประกอบด้วย
- การตรวจสอบจุดบอด (Blind-spot checking)
- การตรวจสอบท่าทางการขับขี่ (Checking driving posture)
- การเบรกกะทันหันขณะใช้ความเร็วสูง (Full braking at high speed)
- การเบรกบนพื้นถนนลื่น (Low-resistance course braking)
- การขับรถบนพื้นถนนลื่น (Low-resistance course driving)
- การขับรถโดยทั่วไป (Overall driving)
Institute Traffic Accident Research And Data Analysis (ITARDA)
เป็นที่ศึกษาเรียนรู้ในเรื่องการวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุบนถนน ก่อตั้งในปี พ.ศ.2535 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น ทำให้ทราบถึงลักษณะและสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยบนถนนให้คนทุกวัย รวมถึงเห็นความสำคัญของการใช้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในรถยนต์
ซึ่งการเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ด้านความปลอดภัยบนถนนให้แก่ นิสิต นักศึกษา ตลอดจนนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในแผนรณรงค์เพื่อต่อยอดโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 เดือน เพื่อที่จะร่วมสร้างความปลอดภัยบนถนนให้แก่สังคมไทย ให้เป็นถนนสีขาวหรือถนนแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน