Suzuki Swift … “Up to the MAX” กล้าท้าลอง..เป็นได้มากกว่าที่ใจคิด

0

ปกติถ้าไปสนามแข่ง นอกจาก “พริตตี้” … สิ่งที่ต้องนึกถึง คงหนีไม่พ้น “รถแข่ง” ซึ่งผ่านการแปรสภาพมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือไม่ก็รถสมรรถนะสูงๆ ที่มีศักยภาพเอื้ออำนวยให้ “หวด” กันอย่างสะใจเต็มที่ ฉะนั้นเราพนันว่าร้อยทั้งร้อย คงไม่มีใครนึกถึง Eco Car เดิมๆ มาตรฐานโรงงงานซักเท่าไหร่

เว้นแต่ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เชื่อมั่นในขีดความสามารถของ Suzuki Swift อย่างหมดใจ เลยเหมาสนามพีระ เซอร์กิต ให้ “ซิ่ง” กันอย่างเต็มที่ ในชื่อกิจกรรม “Up to the MAX” แถมเพิ่มดีกรีความเร้าขึ้นไปอีกขั้น กับการใส่สถานีทดสอบลงไป จนกลายเป็นการขับขี่แบบ Circuit ผสม Gymkhana ภายใต้การปรับเปลี่ยนทิศทางจนสนามพีระฯ ที่คุ้นเคยกลายเป็น Reverse Track อีกด้วย

โดยกิจกรรม “Up to the MAX” พูดง่ายๆ ก็เหมือนการนำเอา Suzuki Swift มาทำ “ข้อสอบ” ซึ่งมีความ “ยาก” ในระดับเทียบเท่า กับเหล่ารถสมรรถนะสูงทั้งหลายๆ ขับกัน หรือหากจะบอกว่าในบางสถานีมีความ “ยาก” มากกว่าด้วยซ้ำ ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยแม้แต่น้อย เมื่อมองจากประเภทของตัวรถ Eco Car ที่มาในสภาพเดิมโรงงาน

เช่น สถานี Progressive Slalom ไปจนถึง Panic Brake หรือแม้กระทั่ง U-Turn 360 องศา และ ซึ่งทั้งหมดแป็นไปตามคอนเซ็ปต์งาน “Up to the MAX” เพื่อไปให้ถึง “ขีดสุด” แห่งสมรรถนะ ชนิดที่ว่าตอกย้ำความสามารถของ Suzuki Swift ได้ชัดเจนกว่าที่เคย นอกเหนือจากการขับขี่บนถนนทั่วไป โดยหยิบเอาจุดเด่นหลักๆ มานำเสนอ

ไล่เรียงมาตั้งแต่ แพลตฟอร์ม HEARTECT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของซูซูกิ บน “มิติตัวถัง” ที่กระชับ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงตำแหน่งการวางเครื่องยนต์, ระบบส่งกำลัง, การรองรับน้ำหนัก ตลอดจนถังน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อช่วยให้โครงสร้างมีน้ำหนักน้อยลง แต่แข็งแกร่ง และมากด้วยประสิทธิภาพในการทรงตัว เพื่อสร้างการขับขี่ที่คล่องตัว

Suzuki Swift ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังเบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.2 ลิตร ติดตั้งเทคโนโลยีหัวฉีดคู่ Dualjet ที่ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงอย่างละเอียด และแม่นยำ โดยเค้นกำลังสูงสุดออกมาที่ 83 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุด 108 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่แม้ดูตัวเลขไม่มากมาย แต่ได้มาซึ่งความ “สมดุลย์” ทั้งในเรื่องของการประหยัดน้ำมัน และอรรถรสการขับ

ชนิดที่ความดีความชอบ ตกอยู่กับระบบพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พิเนี่ยน ตลอดจนช่วงล่างด้านหน้าแบบแม็กเฟอร์สัน สตรัท พร้อทคอยล์สปริง และด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม พร้อมคอยล์สปริง ซึ่งมีล้ออัลลอยด์ขนาด 16 นิ้ว พร้อมยางซีรี่ส์ 185/ 55 R16 มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

ประกอบกันเป็น “เซอร์ไพรส์” บนสนามในกิจกรรม “Up to the MAX” ที่ใครจะเชื่อได้ว่า Eco Car เดิมโรงงาน จะสร้างความ “สนุก” ได้แบบคาดไม่ถึง ตั้งแต่ ด่านแรก U-Turn 360 เพื่อพิสูจน์ในเรื่องความคล่องตัวบนความเร็วต่ำอย่างชัดเจน ทั้งจากน้ำหนักพวงมาลัยที่แปรผันน้ำหนัก และตอบสนองตามความเร็วอย่างเหมาะสม ขณะที่ความสามารถของระบบช่วงล่างในความเร็วต่ำยังคงมากด้วยเสถียรภาพ ไร้การเสียทรง

ซึ่งหากควบคุมคันเร่งอย่างแนบเนียนลงไป ให้เหมาะสมกับพวงมัย จะสามารถออกจากการหมุนเป็น “วงกลม” ได้ง่ายๆ เพียงกดคันเร่ง ขณะที่หน้ายางจับพื้นได้เต็มที่ เพื่อสร้างแรงยึดเกาะ ส่งตัวรถสู่จุดต่อไปเป็นโค้งซ้าย ต่อเนื่อง 2 รูปแบบ ทั้งกว้าง และแคบ ก่อนเข้าสู่ Lane Change ที่พวงมาลัย และช่วงล่าง จะแสดงความสามารถบนความเร็วสูง ที่ผ่านไปแบบสบายๆ

จุดต่อไปกับทางลาดลงเขา เข้าสู่โค้ง 100 R แบบ Reverse Track คือ สถานี Progressive Slalom ที่ระยะห่างของ “กรวย” แต่ละตำแหน่ง “ไม่เท่ากัน” … ฉะนั้นการฝึกฝนจากที่เคยผ่านมือมานับครั้งไม่ถ้วนเท่ากับ “ไร้ผล” เพราะครึ่งหนึ่ง ต้องพึ่งความสามารถของ “Suzuki Swift” ในการควบคุมทั้งความเร็ว และน้ำหนักพวงมาลัยอย่างเหมาะสม ผสมด้วย “สมาธิ” ของผู้ขับขี่ ที่บอกได้เลยว่าคล้ายการขับขี่จริง เวลาเราต้องการแซงเพื่อนร่วมท้องถนน ที่ต้อง “คำนวณ” ทั้งความเร็ว, องศาของพวงมาลัย ไปจนถึงการเบรก

ซึ่งเมื่อพูดถึงการเบรก หลังพ้น Progressive Slalom มาแล้ว Panic Brake คือ จุดต่อไปที่ต้องเจอ แล้วก็เป็นอีกหนึ่งด่านที่คล้ายการใช้งานในชีวิตจริง ในสถานการณ์ที่ต้องเบรกหนักแบบกะทันหัน และต้อง “ไปต่อ” ให้ได้ … อาจฟังดูคล้ายกับ Lane Change แต่ต่างกัน เพราะ Lane Change คือการเปลี่ยนเลนกะทันหัน ขณะที่ Panic Brake คือ อาการ “จวนตัว” แบบที่ต้องเบรกจนหัวทิ่ม โดยระบบ ABS ยังไม่ทำงาน พร้อมด้วยการหักพวงมาลัยหลบสิ่งกีดขวางเพื่อไปต่อโดยที่รถไม่หยุด และท้ายที่สุด คือ ไม่เสียการทรงตัวนั่นเอง

ก่อนจะปิดท้ายด้วย การเบรกอีกครั้งแบบ ABS ทำงาน ภายใต้เงื่อนไข Target Brake คือ ต้องเบรกจนถึงระดับที่ ABS ทำงาน และต้องอยู่ในกรอบ ในช่องที่กำหนดไว้ แบบไม่เสียการทรงตัว … ซึ่งนั่นคือทั้งหมดของ “ข้อสอบ” ในการฝึก อันมีความตื่นเต้นรออยู่ เพราะทุกสถานีทดสอบจะถูก “รวบ” ไว้ด้วยกัน พร้อมกับ “จับเวลา” โดยตัดสถานีทดสอบสุดท้าย ABS Target Brake ออกไป เพื่อให้ได้ลองใช้ศักยภาพของ Suzuki Swift อย่างเต็มพิกัด

และบทสรุป ทั้งหมด ทั้งมวลของด่านทดสอบ บนสนามพีระฯ แบบ Reverse Track เราสามารถบอกได้เลยว่า “ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ” ในความสามารถของ Suzuki Swift ที่แม้เป็น Eco Car ซึ่งหลายคนเชื่อมั่นในความประหยัด แต่มากไปกว่านั้น คือ สมรรถนะ ที่ในสนามแข่งก็เปรียบได้กับสนามเด็กเล่น

เช่น ความสมดุลของน้ำหนักพวงมาลัยที่คล่องตัวในทุกระดับความเร็ว สัมพันธ์กับการทำงานของช่วงล่างที่ตอบโจทย์ความสปอร์ตได้ในระดับยอดเยี่ยม ภายใต้เสถียรภาพการยึดเกาะที่ให้ความมั่นใจได้ดีงาม แม้บนสนามแข่ง และด่านทดสอบแต่ละจุด จะบังคับให้การควบคุมต้องหักพวงมาลัยหลากหลายองศาก็ตาม

ส่วนการตอบสนองของขุมพลัง … แน่ล่ะว่ามัน “น้อย” ไปนิด แต่เมื่อมองวัตถุประสงค์จริงๆ ว่า นี่คือ Eco Car ที่เน้นเรื่องการ “ประหยัด” แล้วจะพบว่าความสามารถระดับนี้ บนสนามแข่งระดับมาตรฐานแบบ Reverse Track ที่เต็มไปด้วยด่านทดสอบ ในระดับเดียวกัน หรือเทียบเท่ารถสมรรถนะสูงใช้ ซึ่งนั่นไม่ต่างอะไรกับโจทย์ยากๆ ในการทำข้อสอบ

และหลังจาก “คำนวณ” ทั้งหมดเข้าด้วยกัน “คำตอบ” ที่คุณค้นพบก็คือ นี่ล่ะ “เซอร์ไพรส์” ที่ Suzuki Swift ในฐานะ Eco Car พกติดตัวมาเป็นมาตรฐาน ชนิดเราเชื่อว่าคุณอาจะทำเพื่อนร่วมงาน Track Day Original ต้องอิจฉาในขีดความสามารถก็เป็นได้ … ส่วนที่ว่ามาทั้งหมด “คุ้ม” หรือไม่ ? ลองเก็บไปคิดดู เพราะค่าตัวรุ่นท็อปที่เรามา “หวด” ในสนามก็แค่ 6.3 แสนบาทเท่านั้น

Comments are closed.