MG EP …  Station Wagon พลังไฟฟ้า 100% ที่จับต้องได้

0

เรียกได้ว่า “รถเสียบปลั๊ก” คือ กระแสแรงแห่งโลกยนตรกรรมที่หลายค่ายรถยนต์หันมาให้ความสนใจกันมากขึ้นซึ่งหนึ่งในนั้น คือ แบรนด์ MG จาก บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย

ซึ่งล่าสุดต่อยอดจาก MG HS PHEV รถอเนกประสงค์พลังไฟฟ้า Plug-in Hybrid สู่รถอเนกประสงค์สไตล์ Station Wagon กับ MG EP ที่มาพร้อมการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ภายใต้แนวคิด “EVeryone ตอบโจทย์ทุกฟังค์ชั่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของทุกคน” ที่วันนี้เราจะพาไปรู้จักให้มากขึ้น

ว่ากันว่าวัตถุประสงค์การมาถึงของ MG EP เกิดขึ้นจากความต้องการ “ลดช่องว่าง” ระหว่าง “ผู้บริโภค” และ รถไฟฟ้า (EV) 100%” เพื่อให้กลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น MG EP จึงมากับรายละเอียด “ออพชั่น” ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการใช้งาน มากกว่านำเสนอเรื่องของ “สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย”

ไล่มาตั้งแต่ภายนอก ที่ยังคงวางตัวด้วย “อัตลักษณ์” ของแบรนด์จากแนวคิด Brit Dynamic เช่น กระจังหน้าแบบ Suspended Wing Grille ที่ให้ความรู้สึกสะดุดตาด้วยการตกแต่งจากโครเมี่ยม ตัดกับโทนสีดำเงา Piano Black ตามด้วยการมีไฟหน้า Projector พร้อมระบบควบคุมการเปิด-ปิดอัตโนมัติ และไฟ Daytime Running Light แบบ LED มาให้ ส่วนด้านหลังมีไฟท้าย LED แบบ Electric Pulse Design, ไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ขณะที่ล้ออัลลอยด์มากับขนาด 16  นิ้ว

ภายในถือได้ว่าประทับใจทีเดียวกับการให้วัสดุแบบ Soft Touch เก็บรายละเอียดงานตกแต่งด้วยเส้นสาย Carboxnyxe พร้อมด้วย “ออพชั่น” มาตรฐานซึ่งถือว่าให้มา “เพียงพอ” ทั้งหน้าจอ Digital Multi-Function Display ขนาด 7 นิ้ว สำหรับคนขับ, หน้าจอ Touchscreen ขนาด 8 นิ้ว ที่รองรับการเชื่อมต่อกับ Apple CarPlay สำหรับความบันเทิง, ระบบปรับอากาศแบบดิจิตอล, กระจกไฟฟ้า รวมไปถึงเรื่องของอเนกประสงค์ด้วยพื้นที่เก็บสัมภาระ และเบาะนั่งปรับพับได้แบบ 60:40 เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ความจุสูงสุดเป็น 1,456 ลิตร

สิ่งที่หลายคน รวมถึงเราเอง “สงสัย” คงต้องยกให้เรื่อง “สมรรถนะ” ซึ่งวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้พิสูจน์กันเบาๆ ในการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% จากแหล่งพลังงานหลัก คือ แบตเตอรี่ Lithium-Ion ความจุรวมถึง 50.3 กิโลวัต์ ในการทำหน้าที่จ่ายไฟให้แก่มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor ที่การันตีว่าวิ่งได้ไกลถึง 380 กม. ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง โดยชาร์จได้ทั้ง 2 รูปแบบ คือ Quick Charge (0 – 80%) และ Normal Charge (0 – 100%)

ส่วนเรี่ยวแรงสูงสุดที่มีให้ใช้นั้นอยู่ที่ 163 แรงม้า พร้อมแรงบิด 260 นิวตันเมตร ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์ไฟฟ้า พร้อมการเคลมว่าสามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ใน 8.8 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 185 กม./ชม. ทั้งยังมีโหมดการขับขี่ให้เลือกถึง 3 รูปแบบระหว่าง Normal, Eco และ Sport พร้อมระบบช่วงล่างสไตล์ Euro Tuning

MG

มาถึงเรื่องของการ “ลองขับ” ต้องบอกเลยว่า มากับอรรถรสของยนตรกรรม EV แบบเต็มๆ เริ่มจาก “ความเงียบ” ตั้งแต่เริ่มกดปุ่มสตาร์ท ส่วนเกียร์เป็นแบบปุ่มหมุน ที่ใช้งานง่ายเหมือนทั่วๆ ไปไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนจะเริ่มก็คือ “บุคลิก” ที่ต่างจากรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน กล่าวคือ “ไร้รอบเครื่องให้ต้องรอ” เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าแรงบิด 260 นิวตันเมตร จะถูกถ่ายทอดออกมาให้ใช้ในทันที ซึ่งหากใจร้อนจุ่มคันเร่งพรวดพราดบอกเลยว่าถึงกับ “หงาย” หากไม่ได้ตั้งตัว

แต่หากทำความคุ้นเคยเป็นที่เรียบร้อย จะพบว่า “ข้อดี” ของการมีแรงตอบสนองที่รวดเร็วทันใจ จะทำให้ “จุดด้อย” ซึ่งเป็นพื้นฐานของรถ Station Wagon คันยาว จะถูกลดทอนไปมากพอควรเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประกอบเข้ากับการปรับเซ็ทน้ำหนักพวงมาลัยที่ลงตัว จนส่งผลให้การใช้งานในเมืองเป็นไปอย่าง “คล่องตัว” เกินคาด

จากในเมือง ขยับไปสู่ระดับความเร็วเดินทางแบบ “สบายๆ” อย่างที่บอกว่าไม่มี “รอบ” ให้ต้อง “รอ” จนทำเอาเราอยากจะกดไปให้ถึงปลายสุดของความเร็วซึ่งว่ากันไว้ที่ 185 กม./ชม. แต่ด้วยรูปการไม่เอื้ออำนวยเท่าไหร่ เลยทำให้ไปได้เพียง 130 กม./ชม. ไม่เกินกว่านั้น ซึ่งถ้ามองในฐานะของรถครอบครัว ก็ต้องบอกว่าสามารถตอบโจทย์ได้ดี มีความนุ่มนวลให้สัมผัส แม้จะเป็นช่วงล่างที่ปรับเซ็ทมาแบบ Euro Tuning ก็ตาม

MG

แถมยังสามารถเปลี่ยนอรรถรสได้ด้วย 3 โหมดการขับขี่ ที่หากในระดับพื้นฐานมันน่าเบื่อเกินไป ขั้นสุดอย่าง Sport ก็น่าจะช่วยกู้อารมณ์ได้บ้าง แต่ไม่ต้องคาดหวังว่าจะเร้าใจอะไรมากมายนัก เพราะ MG EP คือ รถอเนกประสงค์แบบ Station Wagon ที่เน้น “ใช้งาน” มากกว่าการ “ซิ่ง” จึงทำให้อะไรๆ ที่ส่วนตัวเราคิดว่ายังไม่เอื้ออำนวยนัก หลังจากได้ลองใช้ความเร็วในโหมด Sport เช่น ช่วงล่างที่ยังติดนุ่ม แล้วก็น้ำหนักพวงมาลัยที่อยากให้มีน้ำหนักหน่วงเพิ่มอีกนิด

MG

แต่หากมองในภาพรวมจุดประสงค์ของพื้นฐานรถอเนกประสงค์แบบ Station Wagon ในแบบ “คนเปิดใจ” ก็ต้องบอกเลยว่าน่าสน ด้วยคุณสมบัติที่ “เพียงพอ” สำหรับ “ตอบโจทย์” การใช้งาน ส่วนจะขาดก็แค่ ”ความมั่นใจ” ที่ผู้บริโภคต้อง ทั้งในเรื่องของบริการหลังการขาย และสถานีชาร์จไฟสาธารณะที่ต้อง “มี” และ “พร้อม” ใช้ ซึ่งนั่นคือ “การบ้าน” ของแบรนด์ ที่จะต้องทำต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถ “เข้าถึง” ได้จริงๆ

Comments are closed.