Go Further Innovator Scholarship 2019

0

ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และ ทีวีบูรพา จัดประกวดโครงงานสุดยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในหัวข้อ เทคโนโลยี ROAD SAFETY เพื่อทุกชีวิตปลอดภัยบนท้องถนน มอบทุนการศึกษาจำนวน 40 ทุน รวมมูลค่า 760,000 บาท ในโครงการทุนการศึกษา Go Further Innovator Scholarship 2019 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

ฟอร์ดขยายขอบเขตการประกวดนวัตกรรมจากระดับอาชีวศึกษา ไปยังระดับอุดมศึกษาเป็นปีที่ 2 โดยนิสิตจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับอุดมศึกษา จากผลงาน ‘องครักษ์ท่านเป่า ระบบลดการสาดและเหินน้ำ’ ได้รับทุนการศึกษารวม 200,000 บาท ขณะที่ทีมวิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จังหวัดลำพูน คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับอาชีวศึกษา จากผลงาน ‘ระบบล็อคคันเร่งอัตโนมัติ’ ได้รับทุนการศึกษารวม 200,000 บาท นอกจากนี้ ฟอร์ดยังมอบรางวัลรองชนะเลิศให้แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันในรอบสุดท้ายทั้ง 18 ทีม ทีมละ 20,000 บาท รวมเป็นทุนการศึกษาทั้งสิ้น 760,000 บาท โดยกิจกรรมการนำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้น ณ ห้อง Grand Ballroom คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์

“ฟอร์ดมีความยินดีที่เรามีส่วนช่วยสนับสนุนการศึกษาให้แก่นักเรียนไทยอย่างต่อเนื่อง การประกวดโครงงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในโครงการ Go Further Innovator Scholarship เป็นเวทีที่ให้โอกาสเด็กไทยได้แสดงศักยภาพคิดค้นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน สิ่งประดิษฐ์ที่ผู้เข้าแข่งขันส่งเข้าประกวดในปีนี้หลายโครงการมีความแปลกใหม่ น่าสนใจ สร้างสรรค์จากสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่บางครั้งเราอาจนึกไม่ถึง ซึ่งอาจนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจได้ต่อไป” นางสาว กมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทยและตลาดอาเซียน กล่าว

การประกวดเฟ้นหาสุดยอดโครงงานสุดยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์หัวข้อ เทคโนโลยี ROAD SAFETY เพื่อทุกชีวิตปลอดภัยบนท้องถนน ของโครงการทุนการศึกษา Go Further Innovator Scholarship ในปี 2019 ได้รับเกียรติจาก ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายสนิท สุวรรณศร ประธานมูลนิธิร่วมพัฒนาชนบทไทย-อาเซียน และผู้บริหารสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และนายสัมพันธ์ จงสุขวรากุล ผู้บริหารงานด้านความปลดภัย ประจำตลาดนานาชาติ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ให้เกียรติร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน

ผลงานชนะเลิศระดับอุดมศึกษา โครงงานสิ่งประดิษฐ์ ‘องครักษ์ท่านเป่า ระบบลดการสาดและเหินน้ำ’ ของทีมนิสิตสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีสมาชิกประกอบด้วย นายกฤษฎา พวงผ่อง นายเกริกชณัฐ ปภาวินธนา และนายกฤตภาส กิติวัฒนากร เครื่องมือดังกล่าว ทำงานด้วยการตรวจสอบพื้นถนนโดยระบบเซ็นเซอร์เพื่อหาน้ำขังหรือวัสดุอันตรายบนผิวถนนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายในการขับขี่ จากนั้นระบบจะส่งสัญญาณไปยังส่วนควบคุมของระบบเป่าลมความแรงสูงขนาดเล็ก ซึ่งดัดแปลงจากระบบเป่าลมที่ใช้ขับเคลื่อนโดรนไอพ่นไฟฟ้า ให้พ่นลมแรงเฉียบพลันบริเวณด้านหน้าล้อเพื่อแหวกมวลน้ำหรือเป่าวัสดุแปลกปลอมให้พ้นทาง ช่วยป้องกันอุบัติเหตุอันเกิดจากสิ่งมีคมที่ตกอยู่บนพื้นถนนได้

สำหรับผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ ผลงาน ‘ระบบล็อคคันเร่งอัตโนมัติ’ จากทีมวิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จังหวัดลำพูน มีสมาชิกประกอบด้วย นายวิธิสรรค์ ดูกี นายปิยะ หล้าเหลื้อม และนายหว่า แซ่เล่า สิ่งประดิษฐ์นี้ใช้เซ็นเซอร์ในรถยนต์ตรวจจับหากพบว่าผู้ขับขี่หลับตานานผิดปกติ ระบบจะดันก้านล็อคขึ้นเพื่อระงับการใช้งานคันเร่งชั่วขณะ และส่งเสียงเตือนให้ผู้ขับขี่รู้สึกตัว ป้องกันผู้ขับขี่ไม่ให้หลับในและป้องกันการเหยียบคันเร่งโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงเป็นเทคโนโลยีที่มีโอกาสเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน

Comments are closed.