กองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ฟอร์ด ฟันด์) หน่วยงานเพื่อสังคมของ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนีจัดงานเปิดตัว ‘ศูนย์การเรียนรู้
ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม’ หรือ ศูนย์ FREC แห่งแรกในเอเชียอย่างเป็นทางการ ณ ย่านนางเลิ้ง ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของกรุงเทพฯ ในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นด้วยเงินทุนจากกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ซึ่งมีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2566 รวมมูลค่า 53 ล้านบาท ดำเนินการโดยพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้ง 8 ราย ซึ่งล้วนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในกรุงเทพฯ
พันธมิตรของศูนย์ FREC กรุงเทพฯ แห่งนี้ ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการอาหารส่วนเกิน การอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม การศึกษา เทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของชุมชน และศิลปะ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้คนในชุมชนหลายพันราย
ในงานเปิดตัวศูนย์ FREC กรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ ฟอร์ดได้เปิดให้เยี่ยมชมศูนย์ฯ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 20.00 น. พร้อมเชิญชวนผู้สนใจแวะชมและเข้าร่วมกิจกรรมที่เตรียมไว้ตลอดทั้งวัน
“ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ถือเป็นพันธกิจระยะยาวที่เรามุ่งมั่นมอบให้แก่ชุมชนที่เต็มไปด้วยโอกาสไร้ขีดจำกัด เช่นเดียวกับศูนย์ FREC แห่งแรกในเมืองดีทรอยต์ มลรัฐมิชิแกน” นายจิม เวลลา ประธานกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าว “ในกรุงเทพฯ นั้น พันธมิตรศูนย์ FREC ได้มีโอกาสจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ผ่านโครงการจัดการอาหารส่วนเกิน โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการคืนชีพขยะพลาสติก รวมไปถึงกิจกรรมที่น่าสนใจทางเทคโนโลยี ศิลปะ และการวางผังเมือง”
ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนสตรีจุลนาคเดิม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ มีตลาดอาหารนางเลิ้งที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีประวัติเลื่องลือในด้านศิลปะ นาฏศิลป์ และการพิมพ์ หนังสือเล่มแรกในกรุงเทพฯ นั้นก็จัดพิมพ์ขึ้นในชุมชนนางเลิ้ง และหลายครอบครัวในชุมชนมีการถ่ายทอดการตัดเย็บชุดไทยเดิม รวมถึงท่ารำตามแบบนาฏศิลป์ไทยกันมารุ่นสู่รุ่น
“กรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และชุมชนนี้นับว่าเป็นสถานที่พิเศษในประวัติศาสตร์ของไทย” นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าว “ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ทำให้ฟอร์ดมีโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ในการอนุรักษ์พื้นที่ซึ่งเป็นมรดกของกรุงเทพฯ พร้อมก้าวไปข้างหน้าควบคู่กับการเติบโตของเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งเสริมโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมพัฒนาชุมชนที่น่าสนใจไปพร้อมกัน”
ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงทุนกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่กองทุนฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนีเริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2557 โดยศูนย์ FREC แห่งแรกในเมืองดีทรอยต์ คืนรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นถึง 3 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐที่ฟอร์ด และพันธมิตรเอ็นจีโอได้ลงทุนร่วมกัน ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งที่ 5 ตามหลังศูนย์ FREC 2 แห่งแรกในเมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา (เปิดทำการใน พ.ศ.2557 และ 2560) ศูนย์ FREC ประเทศแอฟริกาใต้ (พ.ศ.2560) และเมืองไครโอวา ประเทศโรมาเนีย (พ.ศ.2561)
“การริเริ่มเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแสดงถึงเจตนารมณ์ของกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ในการมุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนต่างๆผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม เราใช้ประโยชน์จากพลังของฟอร์ดในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนด้วยการรับฟังความต้องการของผู้นำชุมชนและทำงานกับกลุ่มพันธมิตรองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เข้มแข็ง” จิม กล่าวเสริม
ฟอร์ดยังมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการทำกิจกรรมเพื่อสร้างสิ่งดีๆเพื่อสังคมในประเทศไทย ผ่านโครงการหลากหลายที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ทั้งในด้านรณรงค์เรื่องการขับขี่อย่างปลอดภัย การศึกษาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ฟอร์ดจัดอบรม Ford Driving Skills for Life (DSFL) หรือ “ฉลาดขับ ประหยัด ปลอดภัย” ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเทคนิคการขับรถยนต์อย่างถูกต้องทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ แล้วกว่า 12,000 คน และร่วมบริจาคในอุบัติภัยธรรมชาติ เช่นการบริจาครถยนต์ กิจกรรมอาสาสมัครและเงินทุนสนับสนุนต่างๆ
ในด้านการศึกษา ฟอร์ดได้จัดโครงการประกวดนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัย ในโครงการทุนการศึกษา Go Further Innovator Scholarship และโครงการ “เปลี่ยนความรู้…สู่อาชีพ” มอบทุนการศึกษาเพื่อฝึกอบรมช่างฝึกหัดจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นอกจากนั้นฟอร์ดยังมีโครงการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ Water Go Green ซึ่งอาสาสมัครฟอร์ดได้มอบระบบจัดการน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนในชุมชนที่ขาดแคลนในจังหวัดระยองกว่า 500 คน