สรรเพชญ ตั้งเสาวภาคย์ รองประธานสายงานวางแผนองค์กรและกลยุทธ์การตลาดและขายนิสสัน มอเตอร์
ประเทศไทย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กรรมการและหัวหน้าคณะทำงานกลุ่มที่ 3 ด้านข้อมูลผู้ใช้และนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
ในฐานะส่วนหนึ่งของคณะทำงานในสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเพื่อทำงานร่วมกับรัฐบาลด้านการส่งเสริมและพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย คณะทำงานดังกล่าวยังได้รับมอบหมายในการส่งเสริมการใช้งาน และการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งนับว่ามีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยรายงานจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า มีการจดทะเบียนรถยนต์แบบปลั๊กอินไฮบริด และไฮบริด ใหม่ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จำนวนถึง 15,366 คัน
โดยบทบาทของสรรเพชญในสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จะให้การสนับสนุนสมาคมฯ ในการกระตุ้นและสนับสนุนนโยบายของภาครัฐเพื่อการกำหนดทิศทางและพัฒนาเเผนแม่บทเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าเเบบบูรณาการในประเทศไทย โดยเป้าหมายของสมาคมฯ คือการสร้างความต้องการในการใช้ รวมถึงการพัฒนาตลาดและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็วทั่วโลก
“นับว่าเป็นเกียรติที่ได้ทำงานสนับสนุนสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย พร้อมทั้งทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างต่อเนื่องในด้านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ผมมั่นใจว่าด้วยประสบการณ์การทำงานของผมกับนิสสันซึ่งถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกและยังเป็นผู้พัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลกอย่างนิสสัน ลีฟ จะสามารถนำความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ใช้และแบ่งปันข้อมูลของกิจกรรมต่างๆ ในการทำงานและให้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างบูรณาการ เพื่อที่จะร่วมกันเร่งพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและผู้ขับขี่ยานยนต์ทุกคน” สรรเพชญ กล่าว
สรรเพชญและคณะทำงานกลุ่มที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบในสนับสนุนข้อเสนอแนะในการดำเนินการต่างๆ ของสมาคมฯ เพื่อส่งเสริมตลาดของยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากภาคการขนส่ง ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ประธานสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าว
โดยข้อเสนอทั้ง 8 ข้อที่ทางสมาคมฯ ได้ทำการเสนอให้กับรัฐบาลนั้นประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมการพัฒนาเเผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าโดยการทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การลดภาษีและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ การจดทะเบียนสามล้อไฟฟ้าและรถรับจ้างอย่างเป็นระบบและกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และสิทธิพิเศษเพิ่มเติมในการลงทุนสำหรับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ เพื่อการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
นอกจากนี้ ข้อเสนออื่นๆ ได้แก่ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ให้มีการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยจัดให้มีหน่วยงานทดสอบเเละรับรองมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้นทั่วประเทศไทย และจัดให้มีการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และประกาศว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพหรือ S-curve สำหรับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยที่สิ้นสุดลงในปี 2561 มีผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน และผู้ประกอบการรายใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้รับการอนุมัติ จำนวน 20-30 สิทธิประโยชน์